โครงการใหญ่ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2563 – 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
ขอบเขตเป้าหมายโครงการ
นโยบายและการบริหารจัดการ
การเรียนการสอน
การมีส่วนร่วมสู่ท้องถิ่น
ผู้รับผิดชอบ : สำนักบริการวิชาการ | วันที่จัดโครงการ 1 ม.ค. 2563 - 1 ม.ค. 2564
1. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่อยู่ : มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เลขที่ 41 ม.5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 เบอร์โทรศัพท์ : 039-319111 อีเมล์ : uniserv@rbru.ac.th 2. โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2563 - 2564 3. หลักการและเหตุผล/ความสำคัญ ตามที่ธนาคารออมสิน มีนโยบายและแผนงาน ประจำปี 2563 - 2564 ในการจัดกิจกรรมด้านการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” โดยการบูรณาการภูมิปัญญาและวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษากับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดซึ่งเป็นการเสริมความมั่นคงในอาชีพและรายได้ การมีวินัยทางการเงินและศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นให้มีความมั่นคง เกิดผลที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันนิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะเกิดการเรียนรู้ เข้าใจในวิถีชีวิต เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรอันมีค่า เพื่อจะช่วยกันจรรโลงรักษาให้อยู่คู่สังคมไทยสืบต่อไป มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีมีปรัชญาในการดำเนินงานในฐานะ "สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" ที่มุ่งเน้นการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์สู่การพัฒนาท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษา รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่ของนักศึกษามาพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการของท้องถิ่นให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงในอาชีพได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณภาพ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับสังคม ชุมชน และท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้ร่วมกับธนาคารออมสิน ในการลงดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการส่งเสริมให้นักศึกษาได้นำความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ของมหาวิทยาลัยไปบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาและทรัพยากรของท้องถิ่น ในการเสริมสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงโครงการดังกล่าวยังส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ เข้าใจวิถีชีวิต เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นในอนาคตต่อไป 4. วัตถุประสงค์ 4.1 เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของชุมชนให้มีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่ม และตอบสนองต่อความต้องการของตลาด 4.2 เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานเป็นทีม สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้กระบวนการทำงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน 4.3 เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ เข้าใจวิถีชีวิต เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น 4.4 เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับกลุ่มองค์กรชุมชนในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์หรือบริการให้สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน 4.5 สร้างการมีวินัยทางการเงินและศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น ให้มีความมั่นคงเกิดผลที่ยั่งยืน